สมัยเด็กๆ บ้านผมอยู่ห้องแถวย่านสะพานควาย ช่วงเรียนอยู่ประถม 3-6 ผมเป็นเด็กที่บ้าเล่นหมากรุกจีนเหมือนเด็กที่ติดเกมงอมแงมสมัยนี้! ต้องไปเล่นกับพวกอาเฮีย อาเจ็กในโรงจำนำเพราะไม่มีเด็กวัยเดียวกันที่เล่นหมากรุกเลย. ร้อนถึงแม่ต้องเอาไม้เรียวไปไล่ตีทั้งที่ตั้งแต่เกิดมาท่านไม่เคยตีผมเลย! แม่คงไม่อยากให้ผมเสียการเรียน ผมเลยตัดสินใจเลิกเล่นหมากรุกจีนที่ผมรัก เพราะไม่อยากให้แม่เสียใจ. ทิ้งไปไม่กี่ปีจากนั้นก็โชคดีได้มีโอกาสเล่นกับเพื่อนพี่ชายคนโตของผมที่อายุห่างกันมาก เขาต่อม้าคู่ให้ผมในฐานะที่เขาเป็นมือ 1ในย่านสะพานควาย ผมสามารถเอาชนะเขาได้ด้วยประสบการณ์เท่าที่มีในสมัย ป.6 โดยการแลกหมากจนเขาหมดตัวรุกยอมแพ้ไปในที่สุด. จากนั้นก็แทบไม่ได้เล่นอีกเลย ประสบการณ์ในหมากรุกจีนจึงมีเท่าตอนเป็นเด็ก 10 ขวบเหมือนเดิม!

ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมเคยมีพนักงานในบริษัทมากมาย หลังพักเที่ยงและหลังเลิกงานมีพนักงานชายหลายคนนั่งโขกหมากรุกไทยกัน เลยไปลองหัดเล่นอยู่ 2 กระดานกลายเป็นหมูฉึกๆ แยกโคนกับเม็ดยังไม่ค่อยออก. ช่วงนั้นสิ้นปีพอดีและไม่มีแผนไปเที่ยวไหน. ผมเลยเกิดไอเดียว่าน่าจะลองออกแบบหมากรุกกระดานใหม่ที่มันกลางๆ ระหว่างไทยกับจีนดูจะได้กลับไปเล่นล้างตากับน้องๆ โดยไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน. ไหนๆ จะออกแบบหมากกระดานใหม่ทั้งทีผมเลยลองค้นหาความรู้เรื่องหมากรุกสากลเผื่อจะได้เอามาปนในกระดานนี้ดู. ทันทีที่เห็นวิธีการตั้งหมากและอ่านถึงกติกา castling ที่เดิน King กับ Rook พร้อมๆ กันในครั้งเดียว ผมถึงกับอุทานในใจว่า "บ้าสิ้นดี!" ทันใดนั้นได้เกิดแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงว่า ในอนาคตโลกเราน่าจะมีหมากรุกชุดที่ดีกว่าเท่าที่เป็นอยู่นี้ หมากรุกที่นำข้อดีของหลายๆ กระดานมารวมไว้ด้วยกัน และมันน่าจะเริ่มขึ้นในเมืองไทยของเรา เมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี่แหละ!


การตั้งหมากที่เว้นช่องว่างไว้ 1 ช่องระหว่างแถวเบี้ยกับแถวตัวหลักๆ ในหมากรุกไทยนั้น ถือว่าดีกว่าของหมากสากลเพราะทุกตัวสามารถขยับเดินได้โดยไม่ต้องรอให้เบี้ยเดินเปิดทางให้ก่อน. ของหมากรุกสากลมี Knight ตัวเดียวที่กระโดดข้ามแถว Pawn ที่ตั้งประชิดไปได้เลย นอกนั้นต้องรอขยับ Pawn ก่อนถึงมีช่องว่างให้เดินได้. ส่วนของหมากรุกจีนยิ่งโล่งเข้าไปใหญ่ ขยับเดินก้าวแรกได้ทุกตัว ยกเว้น กือ มุมกระดานที่ผูก เบ๊ ไว้ไม่ให้ เผ่า (ปืนใหญ่) ยิงข้ามมาสอยเบ๊เอาได้.

การเลือกตัวหมากมาไว้ในกระดาน เริ่มจากตั้งหมากแบบหมากรุกไทยไว้ก่อน แล้วพิจารณาภาพรวมจะพบว่าหมากรุกทั้ง 3 กระดาน นอกจากจะมีม้ามีเรือที่เดินเหมือนกัน (เลยเอาไว้ตำแหน่งเดิมที่มุมกระดาน) แล้ว อาวุธอื่นๆ ของหมากรุกจีนมีปืนใหญ่อีก 2 กระบอกที่เดินเหมือนเรือ แต่กระโดดสปริงข้ามหัวหมาก 1 ตัว (ของฝ่ายไหนก็ได้) ไปกินหมากฝ่ายตรงข้ามตัวถัดไปได้. ของหมากสากลมี Bishop 2 ตัวเดินเฉียงลากยาวได้เหมือนหมากฮอส และยังมี Queen 1 ตัวที่เดินแบบ Rook + Bishop ซึ่งดุมาก และมีผลให้เกิด side effect ถึงการตั้งหมากรุกสากล รวมทั้งกติกา castling ที่ไม่ลงตัวนั่นเอง. ส่วนในหมากรุกไทยนั้น นอกจากเรือม้าแล้วนอกนั้นล้วนเป็นอาวุธสั้น คือ โคน เดินหน้า 3 ช่อง ถอยเฉียง 2 ช่อง และเม็ดเดินเฉียงได้สั้นๆ ทีละช่อง. แม้การหงายเบี้ยจะเกิดขึ้นได้ง่ายแต่ก็แค่เดินได้อย่างเม็ดเท่านั้น. สรุปหมากรุกจีนกับสากลเหมือนมวยไทย แต่หมากรุกไทยเหมือนมวยสากล!

ดังนั้นเพื่อให้เกมดุเดือดฉับไว ผมไม่รีรอที่จะเอาคู่โคนออก แล้วเอาปืนใหญ่ 2 กระบอกของจีน (ที่ผมชอบที่สุด) เข้าไปยืนแทน. ส่วนเม็ดให้เพิ่มอิทธิฤทธิ์เข้าไปเดินแบบ Bishop กลายเป็นเม็ดยาว เท่านี้ก็ได้เรื่อง! ผมสามารถใช้หมากรุกใหม่กระดานนี้เล่นกับคนที่เล่นหมากรุกไทยเก่งที่สุดในบริษัทบนกระดานสลับตาหมากรุกขาวดำได้อย่างสูสี สนุกสนาน!

 

 


Copyrights © 2010 Prinya Rojarayanont. All rights reserved.